Friday, 29 March 2024

9 สีปัสสาวะ บอกโรคร้อยพัน ! ไม่ใช่แค่สัญญาณโรคไต แต่เตือนได้ทั้งร่างกาย

21 Jan 2022
3000

สีปัสสาวะ บอกโรค และความผิดปกติที่เกิดกับร่างกายได้มากมาย ซึ่งไม่ใช่แค่โรคไตเท่านั้น ยังมีโรคอีกหลายระบบ เช่น โรคของต่อมไร้ท่อ, โรคทางสมอง, โรคตับและทางเดินน้ำดี, โรคเลือด ที่สามารถส่งสัญญาณเตือนเรา ผ่านทางการเปลี่ยนแปลงของสีปัสสาวะได้เช่นกัน

ทำไมสีปัสสาวะ บอกโรคได้ทั้งร่างกาย ?

ปัสสาวะเกิดจากเลือดที่ไหลเวียนในร่างกาย ถูกกรองเพื่อกำจัดของเสียและน้ำส่วนเกินออก โดยผ่านจากหน่วยไต ส่งต่อมายังท่อไต – กระเพาะปัสสาวะ – ท่อปัสสาวะ ซึ่งในผู้ชายจะมีต่อมลูกหมากเพิ่มมาด้วย กล่าวได้ว่า น้ำปัสสาวะคือส่วนหนึ่งของเลือด ที่ถูกนำมาขับทิ้งผ่านทางเดินปัสสาวะ และอวัยวะสืบพันธุ์ ทำให้เมื่อตรวจปัสสาวะ จึงสามารถบอกโรคได้เกือบทั้งร่างกาย ผ่านทางส่วนประกอบของสารต่าง ๆ ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งในเลือดนั่นเอง

9 สีปัสสาวะ สัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพใกล้ตัว

ปัสสาวะ1

1.ปัสสาวะสีขาวขุ่น

  •  มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urinary Tract Infection) เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ, ท่อปัสสาวะอักเสบ, กรวยไตอักเสบ ทำให้เกิดหนองสีขาวขุ่นไหลออกมารวมกับปัสสาวะ (Pyuria) จนเห็นปัสสาวะเป็นสีขาว
  • ไขมันสีขาวปนในปัสสาวะ (Lipiduria) เป็นสีปัสสาวะ บอกโรคกลุ่มเนโฟรติก (Nephrotic Syndrome) ที่เกิดมาจากการกรองที่ผิดปกติของไต
  • มีกรดยูริก ปนอยู่ในปัสสาวะจำนวนมาก (Hyperuricosuria)
  • มีน้ำเหลืองปนในปัสสาวะ (Chyluria) ทำให้ปัสสาวะสีขาวขุ่นเหมือนน้ำนม ซึ่งเกิดจากโรคเท้าช้าง ซึ่งมียุงเป็นพาหะนำโรค (Filariasis)
  • การติดเชื้อของระบบสืบพันธุ์ เช่น หนองใน, มีเชื้อราในช่องคลอด
  • เกิดการปนเปื้อนของสารคัดหลั่ง จากระบบสืบพันธุ์

2.ปัสสาวะสีแดงสด

ปัสสาวะ2

  • นิ่วในทางเดินปัสสาวะ (Urolithiasis) โดยเฉพาะนิ่วของกระเพาะปัสสาวะ อาจทำให้มีปัสสาวะเป็นเลือดสด (Hematuria) ทั้งหมด ส่วนนิ่วของท่อไต อาจสังเกตเห็นเลือดสด ที่มีลักษณะยาวคล้ายหลอดขนาดเล็ก ตามรูปทรงของท่อไตได้
  • การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ คือการติดเชื้อตั้งแต่ไต ลงมาจนถึงท่อปัสสาวะ ทำให้เกิดการระคายเคือง จนเกิดเลือดสดไหลปนออกมาในปัสสาวะ ซึ่งมักพบร่วมกับอาการไข้, ปวดท้องน้อย, ปวดหลัง และคลื่นไส้อาเจียน
  • เนื้องอกของทางเดินปัสสาวะ เช่น เนื้องอกของไต, ต่อมลูกหมาก, กระเพาะปัสสาวะ หรือแม้แต่เนื้องอกของอวัยวะข้างเคียง สามารถกดเบียดทางเดินปัสสาวะ จนทำให้มีเลือดสดปนในปัสสาวะได้เช่นกัน
  •  เกิดการกระแทกที่รุนแรง หากเกิดอุบัติเหตุ ที่มีการกระแทกของท้องน้อย, หลัง หรือสีข้าง ร่วมกับมีปัสสาวะปนเลือดสด ต้องสงสัยการฉีกขาดหรือการบาดเจ็บ ของอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะร่วมด้วย
  •  หลังการผ่าตัด เช่น ผ่าตัดนิ่ว, ผ่าตัดต่อมลูกหมาก, ผ่าตัดช่องคลอด อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน จนทำให้มีเลือดออกมาปนในปัสสาวะ ซึ่งควรพบแพทย์โดยด่วน
  • หลังได้รับยาเคมีบำบัด ผลข้างเคียงจากยาที่ใช้รักษา อาจทำให้เกิดการระคายเคือง จนเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Hemorrhagic Cystitis)

3. ปัสสาวะสีแดงจาง

  •  บางครั้งเรียกว่า ปัสสาวะสีแดงคล้ายน้ำล้างเนื้อ
  • โรคไตอักเสบ มีสีปัสสาวะ บอกโรคค่อนข้างชัดเจน มักพบร่วมกับอาการบวม, ความดันโลหิตสูงขึ้น, ปัสสาวะออกน้อยลง หรือปัสสาวะเป็นฟอง บางครั้งอาจมีปัสสาวะเป็นเลือดสดได้
  •  กล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis) พบได้บ่อยในคนที่เป็นโรคฮีทสโตรกหรือลมแดด, คนที่ออกกำลังกาย หรือออกแรงอย่างหนัก รวมถึงการใช้ยาบางชนิดด้วย
  • การอักเสบของทางเดินปัสสาวะ ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด ก็ทำให้มีปัสสาวะสีแดงจางได้ เช่น นิ่ว, เนื้องอก, ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

4. ปัสสาวะสีส้ม

  •  การตรวจปัสสาวะพบเป็นสีส้ม สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากอาหารและยา
  • ยารักษาวัณโรค อย่างยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin) เป็นสาเหตุที่พบบ่อย ที่ทำให้ปัสสาวะมีสีส้ม
  • ยารักษาการระคายเคืองทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ยาไพรีเดียม (Phenazopyridine) ซึ่งเคยถูกแอบอ้างว่าเป็นยาล้างไต สามารถขับของเสียสีส้มออกมาได้ ทำให้เชื่อว่า ไตถูกทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว
  • อาหารที่มีบีตาแคโรทีนสูง เช่น มะละกอ, มะม่วงสุก, แคนตาลูป, แครอท, มะเขือเทศ, บรอกโคลี, ผักโขม
  • ได้รับวิตามินมากเกินไป ได้แก่วิตามินบี และวิตามินซี

5. ปัสสาวะสีโค้ก

ปัสสาวะ3

  •  ปัสสาวะสีโค้ก หรือปัสสาวะสีน้ำตาล เป็นสีปัสสาวะ บอกโรคเกี่ยวกับตับและทางเดินน้ำดี รวมถึงบ่งบอกภาวะ ที่เกิดการแตกตัวของเม็ดเลือดแดงด้วย
  • ภาวะตับอักเสบ ทั้งที่เกิดจากการดื่มสุราอย่างหนัก, การใช้ยาบางชนิด, การได้รับสารพิษบางประเภท, การติดเชื้อเรื้อรังของตับ, ภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง
  • โรคตับแข็ง หากตับอักเสบมากจนเกิดแผล และกลายเป็นพังผืด จะทำให้หน้าที่การทำงานของตับเสียไป ส่งผลให้มีบิลิรูบินปนในปัสสาวะ (Bilirubinuria) จนปัสสาวะมีสีน้ำตาล (Choluria) หรือบางครั้งอาจพบเป็นสีเหลืองเข้ม ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับของบิลิรูบิน
  • เม็ดเลือดแดงแตกตัว เป็นความผิดปกติที่เกิดจากโรคบางชนิด เช่น โรคธาลัสซีเมีย, โรคพร่องเอนไซม์ จี-6-พีดี (G6PD Deficiency), โรคพอร์ฟิเรีย (Porphyria) หรืออาจเกิดตามหลังการได้รับเลือด

6. ปัสสาวะสีเขียวหรือสีฟ้า

  •  ยารักษาอาการซึมเศร้า ตัวยาอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline)
  •  ยาบรรเทาอาการปวด ได้แก่ยาอินโดเมธาซิน (Indomethacin)
  •  สารเมธิลีนบลู (Methylene Blue) ก่อนเดือน มี.ค. 61 สารนี้เคยเป็นส่วนผสมในยาบางชนิด ทำให้ตรวจปัสสาวะพบเป็นสีฟ้า ซึ่งมีคนบางกลุ่มฉวยโอกาส แอบอ้างว่าปัสสาวะสีฟ้า เป็นผลจากสรรพคุณของยาที่ช่วยฟอกและล้างไต ภายหลังยารักษาโรคทางเดินปัสสาวะ ที่มีส่วนประกอบของสารตัวนี้ จึงได้ถูกยกเลิกไป
  • Familial Benign Hypercalcemia หรือเรียกอีกชื่อว่า Blue Diaper Syndrome เป็นโรคทางพันธุกรรมที่หายาก ทำให้ลำไส้มีการดูดซึมกรดอะมิโนทริปโตเฟนผิดปกติ จนปัสสาวะเปลี่ยนสี

7. ปัสสาวะสีม่วง

  •  PUB Syndrome (Purple Urine Bag Syndrome) เป็นโรคที่พบในคนไข้ ที่คาสายสวนปัสสาวะพร้อมถุงปัสสาวะไว้ เกิดจากแบคทีเรียในถุงปัสสาวะย่อยสลายโปรตีน จนได้สีน้ำเงินและสีแดงออกมา เมื่อรวมกันจึงเห็นปัสสาวะเป็นสีม่วง
  •  อีกกรณีที่หลายคนมักเข้าใจผิด คือสีม่วงเป็นสีปัสสาวะ บอกโรคหรือความผิดปกติ ที่เกิดจากการใช้สารเสพติด ทำให้ปัสสาวะของผู้ใช้สารเสพติด มีสีม่วงตั้งแต่ออกจากร่างกาย ซึ่งความจริงแล้วปัสสาวะจะกลายเป็นสีม่วงได้ ก็ต่อเมื่อนำปัสสาวะของผู้ใช้สารเสพติด ไปตรวจกับน้ำยาที่มีความจำเพาะแล้วเท่านั้น

8. ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม

ปัสสาวะ4

  •  ดื่มน้ำน้อย ทำให้ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้มได้ เป็นสีปัสสาวะ บอกโรคหรือภาวะที่ทำให้ร่างกายขาดน้ำ ซึ่งอาจเกิดร่วมกับอาการเวียนศีรษะ, ปากแห้ง, คอแห้ง, ใจสั่น, เหนื่อยง่าย, ท้องผูก
  • สูญเสียน้ำมากเกินไป อย่างในภาวะที่ร่างกายเกิดการเจ็บป่วย มีไข้สูง, ท้องเสียอย่างหนัก, อาเจียนอย่างรุนแรง, อยู่ในที่ร้อนจัด, ออกกำลังกายอย่างหนัก
  • หากเกิดภาวะนี้ สามารถแก้ไขเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง โดยการดื่มน้ำและเกลือแร่ทดแทน จนกว่าปัสสาวะจะมีเหลืองใสเหมือนปกติ

9. ปัสสาวะใส

  •  โรคเบาจืด (Diabetes Insipidus) เกิดได้จากทั้งความผิดปกติของไต และสมอง เช่น เนื้องอก, อุบัติเหตุ ส่งผลให้กระบวนการควบคุม และตอบสนองต่อฮอร์โมนผิดปกติไป
  •  การได้รับยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ, ยารักษาโรคจิตเวช ที่กระตุ้นให้ร่างกายกระหายน้ำ
  •  การดื่มน้ำมากเกินไป เช่น คนที่ดื่มน้ำเปล่าจำนวนมากเพื่อลดน้ำหนัก แทนการรับประทานอาหาร, กิจกรรมบางชนิด ที่จัดให้มีการดื่มน้ำครั้งละมาก ๆ รวมถึงคนที่ออกกำลังกายอย่างหนัก เช่น นักกีฬาอาชีพ หรือเทรนเนอร์ฟิตเนส

การตรวจปัสสาวะ (Urinalysis) บอกอะไรอีกบ้าง ?

ค่าความเป็นกรดด่าง
ค่า pH ของปัสสาวะควรอยู่ในช่วง 4.6 – 8.0 ซึ่งถ้าปัสสาวะมีความเป็นกรดมาก อาจสื่อถึงความผิดปกติของไต, ภาวะหายใจลำบาก, การติดเชื้อ, ขาดน้ำ หรือทานเนื้อสัตว์มากเกินไป

ค่าความถ่วงจำเพาะ
ค่า Urine Specific Gravity เป็นตัวบอกความหนาแน่นของปัสสาวะ ถ้าค่าสูงมาก ปัสสาวะจะมีสีเข้ม ซึ่งเป็นสีปัสสาวะ บอกโรคหรือภาวะขาดน้ำ

เซลล์เม็ดเลือด
เม็ดเลือดขาว เป็นเซลล์ที่บอกว่าร่างกายมีการติดเชื้อ ซึ่งจะทำให้มีปัสสาวะสีขาวขุ่นหรือเป็นหนอง ส่วนการอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะจากทางเดินปัสสาวะ จะทำให้พบกลุ่มของเซลล์เม็ดเลือดแดง ที่มีรูปร่างผิดปกติ หรือมีปัสสาวะเป็นเลือดได้

โปรตีน
การพบโปรตีนในปัสสาวะถือเป็นความผิดปกติ มีสาเหตุมาจากการกรองที่มีปัญหา ซึ่งมักเกิดจากโรคไต

คีโตน
หากร่างกายขาดคาร์โบไฮเดรต จะเกิดการสร้างพลังงานทดแทน ด้วยการดึงไขมันออกมาใช้ในรูปของคีโตน ซึ่งหากพบสารนี้ในการตรวจปัสสาวะ บ่งบอกถึงความผิดปกติได้จากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะขาดอาหาร, คนไข้เบาหวานที่มีน้ำตาลสูง ซึ่งต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติม

น้ำตาล
หากตรวจปัสสาวะพบน้ำตาล อาจมีสาเหตุจากโรคไต หรือโรคเบาหวาน

บิลิรูบิน
สารชนิดนี้ เป็นส่วนประกอบของเม็ดเลือดแดง ซึ่งเมื่อแตกตัวแล้วจะถูกผสมรวมกับน้ำดีที่ตับ แล้วหลั่งเข้าสู่ทางเดินอาหาร จนสุดท้ายขับออกทางอุจจาระ แต่หากพบในปัสสาวะ อาจบ่งบอกถึงความผิดปกติของตับ ซึ่งจะทำให้ปัสสาวะมีสีเข้มขึ้น หรือกลายเป็นสีน้ำตาล

ไนไตรท์
เป็นตัวบ่งบอกถึง ภาวะที่มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ซึ่งอาจพบร่วมกับปัสสาวะเป็นเลือดได้

สรุป

สีปัสสาวะ บอกโรค บอกข้อมูล ส่งสัญญาณเตือนที่มีประโยชน์กับเรา ได้อย่างหลากหลาย ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่โรคไต หรือโรคในทางเดินปัสสาวะเท่านั้น แต่ยังแจ้งเตือนความผิดปกติ ของอีกหลายระบบในร่างกาย ซึ่งเกิดจากการที่มีสารต่าง ๆ เช่น โปรตีน, เม็ดเลือดแดง, เม็ดเลือดขาว, น้ำตาล, บิลิรูบิน ถูกส่งผ่านออกมาในปัสสาวะ ทำให้เราสามารถตระหนักและจัดการกับปัญหา เพื่อหาแนวทางรักษาได้อย่างทันท่วงที